เรื่องที่ 6 ดินดีและดินเลว
รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ โอสถสภา
อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
1. คำนำ
ผลิตภาพดิน (soil productivity) คือ ศักยภาพของดินในการให้ผลผลิตพืช เมื่อใช้ดินนั้นในการเพาะปลูก ดินใดใช้ปลูกพืชแล้วให้ผลผลิตสูง เรียกว่า “ดินผลิตภาพสูง (productive soil)” หรือรียกโดยทั่วไปว่า “ดินดี (good soil)” แต่ถ้าดินใดใช้ปลูกพืชแล้วให้ผลผลิตต่ำ เรียกว่า “ดินผลิตภาพต่ำ (non-productive soil)” หรือ “ดินเลว (poor soil)”
ดังนั้นดินดี และดินเลวในแง่ของการปลูกพืช มีความหมายต่างกัน ดังนี้ คือ (1) ดินดี หมายถึงดินที่ปลูกพืชแล้ว พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง และ (2) การปลูกพืชในดินเลว พืชไม่เจริญเติบโต เนื่องจากมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงเรียกดินเลวว่า “ดินปัญหา”
2. ดินดี
ดินดี คือ ดินที่ปลูกพืชแล้ว พืชเจริญเติบโตดีและให้ผลผลิตสูง เพราะเป็นดินที่มีลักษณะ 4 ประการ คือ (1) สมบัติทางกายภาพดี (2) สมบัติทางเคมีดี (3) สมบัติทางชีวภาพดี และ (4) ความอุดมสมบูรณ์สูง
1) สมบัติทางกายภาพดี เช่น มีความร่วนซุย อุ้มน้ำให้พืชใช้ประโยชน์ได้มาก การถ่ายเทอากาศดี และไม่ชั้นดินดานขัดขวางการเจริญเติบโตของรากพืช
2) สมบัติทางเคมีดี เช่น สภาพกรด-ด่างของดินเหมาะสม และดินดูดซับธาตุอาหารไว้ให้พืชใช้ได้มาก
3) สมบัติทางชีวภาพดี คือ มีอินทรียวัตถุในดินสูงพอเหมาะ มีประชากรของพืชขนาดเล็กในดิน สัตว์ขนาดเล็กในดิน และจุลินทรีย์ดินอย่างสมดุล และกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดินเอื้อต่อการเติบโตของพืช
4) ความอุดมสมบูรณ์สูง หมายถึงดินให้ธาตุอาหารแก่พืชได้ครบทุกธาตุ แต่ละธาตุเพียงพอ และสมดุลกันตามความต้องการของพืช
3. ดินเลว
ดินเลวหรือดินปัญหา มีสภาพในขณะนั้นไม่เหมาะที่จะใช้ในการผลิตพืชโดยทั่วไป สาเหตุที่พืชไม่เจริญเติบโตเมื่อปลูกในดินประเภทนี้ เพราะอาจมีปัญหา 4 ด้าน คือ สมบัติทางกายภาพเลว สมบัติทางเคมีเลว สมบัติทางชีวภาพเลว และความอุดมสมบูรณ์ต่ำ
1) ดินมีปัญหาทางกายภาพ ซึ่งอาจเกิดตามธรรมชาติ เช่น ดินทรายจัด ดินปนกรวด และดินตื้น หรือมีปัญหาทางกายภาพเนื่องจากการจัดการไม่ถูกต้อง เช่น มีชั้นดินดานในดินล่าง เนื่องจากการไถพรวนผิดวิธี
2) ดินมีปัญหาทางเคมี ซึ่งอาจเกิดตามธรรมชาติ เช่น ดินเค็ม ดินเปรี้ยวจัด และดินอินทรีย์ หรือมีปัญหาทางเคมีเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การปนเปื้อนของโลหะพิษจากการทำเหมืองแร่บริเวณใกล้เคียง
3) ดินมีปัญหาทางชีวภาพ เช่น ดินมีอินทรียวัตถุในดินต่ำมาก เป็นเหตุให้มีกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชน้อยเกินไป สภาพของดินจึงไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของพืช
4) ดินมีปัญหาเพราะความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ทำให้พืชขาดธาตุอาหาร ซึ่งมาจากสาเหตุ 2 ประการ คือ (1) เกิดตามธรรมชาติในดินเนื้อหยาบ ดินกรดจัดและดินด่างจัด และ (2) เกิดเนื่องจากการจัดการดินไม่ถูกต้อง เช่น ไม่มีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงสูญเสียดินบนที่มีความอุดมสมบูรณ์สูงออกไปเรื่อยๆ นอกจากนี้การปลูกพืชต่อเนื่องโดยไม่มีการจัดการธาตุอาหารที่ถูกต้อง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำลง
4. การปรับปรุงดินปัญหา (ดินเลว)
จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้ว่าดินปัญหามีหลายประเภท ปัญหาของดินบางอย่างแก้ไขยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนปัญหาบางอย่างก็แก้ไขได้ไม่ยากนัก แต่ต้องประเมินเพื่อให้ทราบสาเหตุและเลือกวิธีการปรับปรุงดินที่เหมาะสม ดังนี้
1) ประเมินให้ทราบว่าดินมีปัญหาด้านสมบัติทางกายภาพ สมบัติทางเคมี สมบัติทางชีวภาพ หรือด้านความอุดมสมบูรณ์ของดิน แล้วประเมินต่อไปว่าปัญหาที่พบนั้นมีเพียงข้อเดียวหรือหลายข้อ และระดับของปัญหานั้นมีความรุนแรงเพียงใด
3) ดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ใช้วิธีการที่ถูกต้องด้วย
เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 2 ปะการนี้อย่างถูกต้อง ก็จะทำให้ดินมีสมบัติต่างๆดีขึ้นตามลำดับ จนสามารถใช้ปลูกพืชได้ดีขึ้นระดับหนึ่ง
…………………………………
หมายเหตุ: อีก 2 สัปดาห์ ติดตามเรื่องที่ 7 ที่มาของธาตุอาหารพืช