เรื่องที่ 2 ความสำคัญของเนื้อดินต่อพืช

08/01/2020

บทความชุด “ดิน ธาตุอาหารและปุ๋ย” เพื่อ “เพิ่มผลผลิต”

 

เรื่องที่ 2 ความสำคัญของเนื้อดินต่อพืช

รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ โอสถสภา

อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. คำนำ

    อ่านเรื่องนี้แล้วจะทราบว่า “เนื้อดินเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชและการใช้ปุ๋ยอย่างไร?”

     สมบัติทางกายภาพของดินที่สำคัญมี 4 อย่าง คือ   เนื้อดิน  โครงสร้างดิน  ความชื้นในดินและอากาศในดิน โดยเนื้อดินและโครงสร้างดินมีอิทธิพลอย่างมากต่อดูดซับน้ำ การถ่ายเทอากาศ และการกระจายของรากพืชในแนวราบและแนวดิ่ง  ดินควรมีการซึมน้ำดีไม่มีชั้นดินดานที่ขัดขวางการระบายน้ำ การถ่ายเทอากาศและการกระจายของราก  ในข้อนี้จะกล่าวถึงเนื้อดิน ส่วนโครงสร้างดินจะอธิบายในเรื่องที่ 4

  2. ความหมายของเนื้อดิน

   เนื้อดิน คือ สมบัติของดินที่บ่งบอกถึงความหยาบ หรือความละเอียดของชิ้นส่วนที่ประกอบกันเป็นดิน  โดยเน้นส่วนที่เป็นสารอนินทรีย์ของดิน ซึ่งประกอบด้วยอนุภาคขนาดต่าง ๆ ได้แก่ ทราย (sand) ทรายแป้ง (silt) และดินเหนียว (clay) ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน เส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคแต่ละอย่างแสดงไว้ในภาพที่ 2

ภาพที่ 1 ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของอนุภาคทราย (sand  2.0-0.05 มม.) ทรายแป้ง (silt 0.05-0.002 มม.) และ ดินเหนียว (clay น้อยกว่า 0.002 มม.)

 

3. การจำแนกเนื้อดิน

          การจำแนกและกำหนดชื่อเนื้อดินพิจารณาจากร้อยละขององค์ประกอบที่เป็นทราย  ทรายแป้ง และดินเหนียว จากตัวอย่างดินซึ่งร่อนผ่านตะแกรงขนาด 2 มิลลิเมตร โดยไม่พิจารณา (1) ชิ้นส่วนที่ใหญ่กว่านี้ เช่น ทรายที่มีขนาดโตกว่า 2 มิลลิเมตร ก้อนกรวดและก้อนหิน และ (2) สารอินทรีย์ทุกชนิดที่อยู่ในดิน

           ยกตัวอย่างการหาประเภทเนื้อดิน จากผลการวิเคราะห์ปริมาณอนุภาค 3 ชนิด คือ % ดินเหนียว, % ทรายแป้ง, และ % ทราย แล้วนำไปอ่านจากรูปสามเหลี่ยมหาเนื้อดิน ดังภาพที่ 2

 

ภาพที่ 2 ภาพสามเหลี่ยมใช้จำแนกประเภทเนื้อดินจาก % ดินเหนียว (clay-แกนเอียงด้านซ้าย), % ทรายแป้ง (silt-แกนเอียงด้านขวา), และ % ทราย (sand-แกนนอน) จุดตัดของสามค่า คือ ประเภทเนื้อดิน

 

      การแจงชนิดของเนื้อดินจากภาพสามเหลี่ยม ได้ผลดังนี้

            1) มีทราย 30% ทรายแป้ง 35% ดินเหนียว 35% เรียกว่า เนื้อดินร่วนเหนียว (clay loam)

            2) มีทราย 40% ทรายแป้ง 40% ดินเหนียว 20% เรียกว่า เนื้อดินร่วน (loam)

            3) มีทราย 50% ทรายแป้ง 20% ดินเหนียว 30% เรียกว่า เนื้อดินร่วนเหนียวปนทราย

        อาจแบ่งประเภทของเนื้อดินออกได้อย่างกว้าง ๆ เป็น 3 กลุ่ม คือ

           1) กลุ่มดินเนื้อหยาบ ได้แก่ ทราย ทรายร่วน

           2) กลุ่มดินร่วน แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ

               (1) ดินเนื้อค่อนข้างหยาบ ได้แก่ ร่วนปนทราย

               (2) ดินเนื้อปานกลาง ได้แก่ ร่วนปนทรายแป้ง และทรายแป้ง

               (3) ดินเนื้อค่อนข้างละเอียด ได้แก่ ร่วนเหนียว ร่วนเหนียวปนทราย และร่วนเหนียวปนทรายแป้ง

          3) กลุ่มดินเนื้อละเอียด ได้แก่ เหนียวปนทราย เหนียวปนทรายแป้ง และดินเหนียว

4. ความสำคัญของเนื้อดิน

         เนื้อดินมีความสำคัญต่อการปลูกพืชดังนี้

        1) เนื้อดินเป็นสมบัติของดินที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก ดังนั้นการไถพรวน ปลูกพืช ใส่ปุ๋ยเคมี หรือใส่ปุ๋ยอินทรีย์ก็ไม่ทำให้ประเภทของเนื้อดินเปลี่ยนแปลง เพราะสัดส่วนระหว่างทราย ทรายแป้งและดินเหนียวยังคงเดิม การที่เนื้อดินในธรรมชาติเปลี่ยนยาก สมบัติของดินส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อดินซึ่งมีผลต่อกับพืชจึงไม่เปลี่ยนแปลงด้วย

       แต่การเตรียมดินผสมเพื่อปลูกพืชในกระถาง เช่น นำทรายมาผสมกับดินเนื้อละเอียด เพื่อเพิ่มการระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศ ก็ย่อมทำให้ประเภทของเนื้อดินเปลี่ยน เช่น จากดินเนื้อละเอียดมาเป็นดินเนื้อหยาบขึ้น

        2) ผลต่อการเจริญเติบโตของพืช การปลูกพืชในดินซึ่งมีเนื้อดินประเภทหนึ่ง พืชอาจมีการเจริญเติบโตแตกต่างจากการปลูกในดินซึ่งมีเนื้อดินอย่างอื่น เนื่องจากดินแต่ละประเภทมีความแตกต่างในเรื่องแหล่งธาตุอาหาร ความชื้นที่เป็นประโยชน์ และการถ่ายเทอากาศ เป็นต้น

      3) เนื้อดินต่างกันมีปริมาณธาตุอาหารต่างกัน กล่าวคือ ดินร่วน และดินเนื้อละเอียดมักกำเนิดมาจากหินและแร่ที่มีธาตุอาหารต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบสูงกว่าดินเนื้อหยาบ นอกจากนี้ดินร่วนและดินเนื้อละเอียดมีความจุในการแลกเปลี่ยนไอออนบวกสูงกว่าดินเนื้อหยาบ จึงดูดซับธาตุอาหารในรูปไอออนบวกไว้ที่ผิวของอนุภาคดินเหนียวได้มากกว่า ซึ่งไอออนของธาตุอาหารต่างๆเป็นประโยชน์ต่อพืชได้ง่าย ดังนั้นโดยพื้นฐานแล้วดินร่วน และดินเนื้อละเอียดจะมีความอุดมสมบูรณ์สูงกว่าดินเนื้อหยาบ

      4) เนื้อดินต่างกันมีความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่างกัน ดินต่างชนิดที่มีเนื้อดินต่างกัน จะมีปริมาณของความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืชแตกต่างกันไป กล่าวคือ ดินร่วนมีปริมาณความชื้นที่เป็นประโยชน์สูงกว่าดินทรายและดินเหนียว

      5) เนื้อดินต่างกันมีการถ่ายเทอากาศต่างกัน หากจำแนกช่องในดินเป็น 2 ขนาด คือ (1) ช่องที่โต

กว่า 0.06 มม. เป็นช่องขนาดใหญ่ และ (2) เล็กกว่า 0.06 มม. เป็นช่องขนาดเล็ก ดินที่มีประเภทของเนื้อดินต่างกันย่อมมีสัดส่วนของช่องทั้งสองขนาดนี้แตกต่างกันด้วย กล่าวคือ

         (1) ดินเนื้อละเอียดมีช่องขนาดใหญ่น้อย แต่มีช่องขนาดเล็กมาก

         (2) ดินเนื้อหยาบมีช่องขนาดใหญ่มาก แต่มีช่องขนาดเล็กน้อย

      เนื่องจากช่องขนาดใหญ่มีน้ำอยู่น้อย ส่วนมากเป็นที่อยู่ของอากาศ ดังนั้นการระบายน้ำ และการถ่ายเทอากาศจึงเกิดได้ดีในช่องขนาดใหญ่ของดิน  ส่วนช่องขนาดเล็กจะมีความชื้นอยู่เต็มเมื่อดินได้รับน้ำ การถ่ายเทอากาศจึงเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยเหตุนี้เองดินเนื้อหยาบ จึงมีการระบายน้ำและถ่ายเทอากาศง่าย แต่เกิดขึ้นได้ค่อนข้างยากในดินเนื้อละเอียด โดยเฉพาะในดินล่าง จนเป็นเหตุให้ดินขาดออกซิเจนและเป็นอุปสรรคต่อการเจริญเติบโตของราก ตลอดจนกิจกรรมของจุลินทรีย์ดิน

3.  การแก้ไขข้อด้อยของของเนื้อดิน

     ข้อมูลในข้อ 2 ระบุว่าดินเนื้อหยาบและดินเนื้อละเอียดต่างก็มีข้อด้วยแตกต่างกันไป  แต่ข้อด้อยเหล่านั้นแก้ไขได้โดยการเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน ดังรายละเอียดในเรื่องที่ 3

...............................................................