เรื่องที่ 3 ความสำคัญของอินทรียวัตถุในดิน

15/01/2020

บทความชุด “ดิน ธาตุอาหารและปุ๋ย” เพื่อ “เพิ่มผลผลิต”

 

เรื่องที่ 3 ความสำคัญของอินทรียวัตถุในดิน

รองศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ โอสถสภา

อาจารย์พิเศษ ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

1. องค์ประกอบของดินที่เหมาะแก่การปลูกพืช

      ดังได้อธิบายในเรื่องที่ 1 แล้วว่า ดินที่เหมาะกับการปลูกพืชมีองค์ประกอบโดยปริมาตร 4 ส่วน คือ (1)   สารอนินทรีย์อันได้แก่ส่วนที่เป็นทราย ทรายแป้งและดินเหนียว 45% (2) อินทรียวัตถุ 5% (3) อากาศ 25% และ (4) น้ำ 25% สำหรับอินทรียวัตถุในดินนั้นแม้ระดับที่เหมาะสมจะมีเพียง 5%โดยบริมาตร หรือ 3.5% โดยน้ำหนัก แต่เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสมบัติของดินทางฟิสิกส์ เคมีและชีวภาพ ในดินที่ใช้เพาะปลูก

2. อินทรียวัตถุในดินคืออะไร ? 

     อินทรียวัตถุในดิน คือส่วนที่เป็นสารอินทรีย์ซึ่งประกอบด้วย  1) เศษซากพืชหรือสัตว์  ที่ผ่านการสลายไปแล้วมากบ้างน้อยบ้าง  2) เซลล์และเนื้อเยื่อของจุลินทรีย์  และ  3) สารอินทรีย์ต่าง ๆ ซึ่งจุลินทรีย์สังเคราะห์ขึ้น (ภาพที่ 1) ดินในธรรมชาติ พบอินทรียวัตถุสะสมอยู่ในดินชั้นบน (ภาพที่ 2)

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ soil organic matter คือ

ภาพที่ 1 ลักษณะของอินทรียวัตถุในดิน

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ o horizon soil

ภาพที่ 2 ดินในธรรมชาติ อินทรียวัตถุสะสมอยู่ในดินชั้นบน (O horizon สีเข้ม)

 

     สำหรับเกณฑ์ในการประเมินระดับอินทรียวัตถุในดินมีดังนี้  (1) น้อยกว่า 1% หมายความว่าต่ำ (2) 1-2% หมายความว่าปานกลาง (3) 2-3% หมายความว่าค่อนข้างสูง และ (4) มากกว่า 3% หมายความว่าสูง

3. องค์ประกอบของอินทรียวัตถุในดิน

    ในส่วนของชั้นอินทรียวัตถุ (O horizon) ที่อยู่บนสุดนั้น ประกอบไปด้วย 5 ส่วน คือ

     (1) ส่วนที่สลายดีแล้วและค่อนข้างเสถียร (ฮิวมัส) 30-45% ส่วนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยเป็น 60-80% เมื่อส่วนที่ (2) มีการสลายตัวมากขึ้น

     (2) สารอินทรีย์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนต่างๆของการสลายตัว 30-45% และจะค่อยๆลดลงเหลือ 10-20% เมื่อมีการสลายตัวไปเรื่อยๆ 

     (3) เศษซากพืชที่ทับถมใหม่ๆ น้อยกว่า 10%

     (4) สิ่งมีชีวิตในดินมีน้อยกว่า 5% ซึ่งประกอบด้วยเชื้อรา แบคทีเรีย แอกทิโนไมซิส สัตว์ และจุลินทรีย์ดิน

4. อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์ต่อพืชอย่างไรบ้าง ?

       อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์ต่อพืช 2 ประการ คือ (1) เป็นแหล่งหลักของธาตุไนโตรเจน แต่ก็ให้ธาตุอื่นๆด้วย โดยจะปลดปล่อยธาตุอาหารจากการสลายตัวอย่างช้าๆ และ (2) บำรุงดินทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ ดังรายละเอียดในตารางที่ 1

 

 

 

 

ตารางที่  1   อิทธิพลของอินทรียวัตถุต่อสมบัติของดินและการเจริญเติบโตของพืช

 

             ผลต่อดิน                                                               ผลต่อพืช

ด้านกายภาพของดิน

เพิ่มการเกาะตัวของอนุภาคดินให้เป็นเม็ดดินเพิ่มเสถียรภาพของโครงสร้างดิน ก่อให้เกิดสมดุลระหว่างช่องขนาดเล็ก กลาง และใหญ่

 

 

รากพืชไชชอนได้ง่าย ดินทนต่อการชะล้างและการกร่อน เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ การแทรกซึมน้ำ การซาบซึมน้ำ และการถ่ายเทอากาศของดินดีขึ้น

ด้านเคมีของดิน

  1. เป็นแหล่งธาตุอาหาร มีหลายธาตุ ปลดปล่อยให้พืชอย่างช้าๆ และธาตุอาหารถูกชะล้างจากดินน้อย
  2. ทำปฏิกิริยาคีเลชันกับไอออนของจุลธาตุในดิน
  3. เพิ่มความจุในการแลกเปลี่ยนแคตไอออนของดิน (CEC)
  4. ลดการตรึงฟอสฟอรัสในดิน

 

  1. พืชได้รับธาตุอาหารหลายธาตุ  เป็นแหล่งสำคัญของธาตุไนโตรเจน  แต่ไม่มีผลตกค้างเป็นกรด เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมหรือยูเรีย
  2. พืชดูดใช้จุลธาตุจากดินได้ดีขึ้น
  3. ดินดูดซับธาตุอาหารพวกแคตไอออนไว้เป็นประโยชน์ต่อพืชได้มากขึ้น
  4. พืชใช้ประโยชน์จากปุ๋ยฟอสเฟตได้มากขึ้น

ด้านชีวภาพ

  1. สภาพของดินเหมาะแก่การเจริญของจุลินทรีย์ดิน มีประชากรและกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์มากขึ้น
  2. เพิ่มปริมาณและกิจกรรมของสัตว์ในดิน

 

  1. พืชได้รับประโยชน์จากวงจรธาตุอาหารที่เหมาะสมในดิน

 

  1. การเคลื่อนย้ายและการสลายของซากพืชใหม่ๆ เกิดได้เร็ว

 

 

5. ปริมาณอินทรียวัตถุในดินของประเทศไทยมีสูงหรือต่ำ ?

        ดินที่ใช้เพาะปลูกในประเทศไทยส่วนมากมีอินทรียวัตถุ อยู่ในเกณฑ์ต่ำถึงปานกลาง ดินเหล่านั้นจึงมักขาดธาตุไนโตรเจน และธาตุอื่นๆ รวมทั้งสมบัติทางกายภาพ เคมีและชีวภาพไม่ดีด้วย

        การปฏิบัติเพื่อบำรุงดินมีดังนี้ (1) ไถกลบซากพืชและวัชพืชลงในดิน (2) ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักตามกำลังเท่าที่สามารถทำได้ (3) หากผลการวิเคราะห์ดินแสดงว่ายังขาดธาตุใด ก็ใช้ปุ๋ยเคมีเพิ่มธาตุนั้น ตามอัตราที่แนะนำ และ (4) เสริมด้วยปุ๋ยทางใบตามความจำเป็น

……………………………………..